ตำแหน่งวัดที่ถือว่าเป็นสุดยอดฮวงจุ้ยของไทยตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง

3213 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตำแหน่งวัดที่ถือว่าเป็นสุดยอดฮวงจุ้ยของไทยตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง

ในบทความนี้ข้าพเจ้าได้รวบรวมวัดที่ถือว่าเป็นสุดยอดทางฮวงจุ้ยของประเทศไทยมาให้ได้ศึกษากันว่ามีสถานที่ไหน ตั้งอยู่ที่ใดบ้างไปดูกัน

1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

รูปแสดงตำแหน่งที่ตั้งวัดพระแก้ว มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลโอบอุ้ม

รูปทัศนียภาพบริเวณวัดพระแก้ว

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของแผ่นดินสยามที่พบ ณ วัดป่าเยี้ยะ (ป่าไผ่) จังหวัดเชียงราย และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส 

ซึ่งในทางฮวงจุ้ยนั้น ถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญที่สุดของประเทศไทย และตั้งอยู่ศูนย์กลางของกรุงเทพมหานคร ถ้าเราดูตำแหน่งที่ตั้งของวัดนั้น ก็จะพบว่าวัดแห่งนี้ อยู่ในตำแหน่งที่มีชัยภูมิที่ดีมาก ๆ ซึ่งอยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ และมีแม่น้ำเจ้าพระยาโค้งโอบนำพากระแสที่ดีเข้ามาสู่ตัววัด ถือได้ว่าตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีมาก ๆ ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง

2. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

รูปแสดงตำแหน่งที่ตั้งวัดอรุณราชวรารามฯ ที่มองเห็นกระแสแม่น้ำไหลแต่ไกล

รูปทัศนียภาพบริเวณวัดอรุณ            

วัดอรุณ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยาที่ชื่อวัดแจ้ง เพราะ พระเจ้าตากฯทำศึกเสร็จแล้วยกทัพกลับมาเป็นเวลาเช้าพอดี ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรมสมัยอยุธยาที่บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งตั้งแต่เวลานั้นแล้ว

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้น ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานจนวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2322 ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในปี พ.ศ. 2327

ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 1 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมามีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

ในทางฮวงจุ้ยนั้น ถือได้ว่าวัดนี้มีการออกแบบและวางผังที่มีความสมดุลเป็นอย่างมาก ผังเป็นสี่เหลี่ยม  มีเจดีย์ที่สง่างามบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ และด้านหน้าติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือว่าได้รับกระแสพลังที่ดีในตลอดทั้งปี และมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีชื่อเสียงและเป็นวัดที่สำคัญของประเทศอีกวัดหนึ่งเลยทีเดียว

3. วัดสุทัศนเทพวราราม

รูปแสดงตำแหน่งที่ตั้งวัดสุทัศนเทพวราราม

รูปแสดงทัศนียภาพบริเวณวัดสุทัศน์

วัดสุทัศน์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย และถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครชั้นใน และอยู่มีสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นคือ เสาชิงช้า อยู่บริเวณหน้าวัด

ในต้นยุคกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างวัดขึ้นในพื้นที่พระนครชั้นใน ในปี พ.ศ. 2350 เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โดยมีพื้นที่ตั้งอยู่ในดงสะแก เป็นที่ลุ่มจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถมที่และสร้างเป็นวัด และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม จึงเรียกกันว่า วัดพระโต, วัดพระใหญ่ หรือวัดเสาชิงช้าบ้าง จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ การก่อสร้างวัด มาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2390 และพระราชทานนามว่า "วัดสุทัศน์เทพวราราม" ปรากฏในจดหมายเหตุว่า "วัดสุทัศน์เทพธาราม" และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่า "พระศรีศากยมุนี", "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ "พระพุทธเสรฏฐมุนี"

ซึ่งในทางฮวงจุ้ยนั้น วัดสุทัศน์ฯก็ถือเป็นอีกหนึ่งวัดที่มีการวางผังออกแบบที่ดี ด้านหน้าเป็นวงเวียน เสาชิงช้า ทำให้รถเกิดการชะลอตัว และกระแสพลังก็เกิดการชะลอตัว ทำให้วัดแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก รวมถึงการออกแบบวางผังวัดที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านั้นก็ถือได้ว่าจัดได้มีความสมดุลเป็นอย่างมาก

4. วัดหัวลำโพง

รูปแสดงตำแหน่งที่ตั้งวัดหัวลำโพง

รูปทัศนียภาพวัดหัวลำโพง

วัดหัวลำโพง พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ในเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร วัดหัวลำโพงเดิมชื่อ "วัดวัวลำพอง" เป็นวัดราษฎร์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ วัดหัวลำโพงยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดหัวลำโพง และมูลนิธิร่วมกตัญญู

ในปีพ.ศ. 2447 จากหลักฐานและคำบอกเล่ากล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระกฐิน ณ วัดต่างๆ สามแห่ง ตามลำดับคือ วัดสามจีน (วัดไตรมิตรวิทยาราม) วัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒาราม) และวัดวัวลำพอง (วัดหัวลำโพง)

ในการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน ที่วัดวัวลำพองนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ ระราชทานนามว่า “วัดหัวลำโพง” 

ในทางฮวงจุ้ยนั้น วัดแห่งนี้ถือว่ามีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก มีเงินบริจาคมหาศาล ทุก ๆวัน เพราะด้วยกระแสของถนนหลายสายที่วิ่งมาบรรจบรวมกัน ทำให้รถเกิดการชะลอตัวและเกิดการสะสมพลังของกระแสในบริเวณนี้  รวมถึงถนนพระราม4ที่มีการตัดโค้งเข้ามาในบริเวณหน้าวัด ทำให้มีพื้นที่เป็นลานโล่ง(เหม่งตึ๊ง)เปิดรับกระแสที่ดีเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง

5. ศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า)

รูปแสดงตำแหน่งที่ตั้ง ศาลเจ้าพ่อเสือ

รูปภายในบริเวณศาลเจ้าพ่อเสือ

ศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า),  ศาลเจ้าพ่อเสือ พระนคร หรือที่เรียกสั้นๆว่า ศาลเจ้าพ่อเสือ 玄天上帝ซึ่งเป็นศาลเจ้าจีนเก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่บนถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ชาวจีนเรียกศาลเจ้านี้ว่า "ตั่วเหล่าเอี้ย" 大老爷 โดยเป็นที่ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้, รูปเจ้าพ่อเสือ, รูปเจ้าพ่อกวนอู และรูปเจ้าแม่ทับทิม

ศาลเจ้าพ่อเสือตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดให้ขยายถนนบำรุงเมือง ได้โปรดให้ย้ายศาลมาไว้ที่ทางสามแพร่งถนนตะนาว จนถึงปัจจุบัน

ในทางฮวงจุ้ยถือว่าตำแหน่งที่ตั้งของศาลแห่งนี้นั้น อยู่ในตำแหน่งที่เป็นทางสามแพร่ง มีถนนตะนาวและถนนมรรณพตัดผ่านมาบรรจบกัน ทำให้สามแยกตรงนี้จะเกิดความวุ่นวาย คึกคัก กระแสทางสามแพร่งพุ่งมารวดเร็วและมาแต่ไกล  กระแสถนนเป็นหยางเพราะฉะนั้นจึงต้องใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อมารับกับพลัง ก็จะสมดุลพอดีแต่ มีถนนพุ่งชน คือกระแสสัวะ ไม่ว่าอย่างไรก็ตามก็จะเกิดเรื่องราวรุนแรงในบางปี ที่ดาวเคราะห์ไปบรรจบ ณ ทิศทางนั้นพอดี ซึ่งเราเคยได้ยินว่าที่แห่งนี้เคยเกิดเหตุเพลิงไหม้รุนแรงมาแล้ว หรือแม้แต่ เหตุการณ์รุนแรงในคณะกรรมการบริหารในอดีตก็ด้วยสาเหตุมาจากพลังของกระแสฮวงจุ้ยทั้งสิ้น ซึ่งถ้าเราเข้าใจเราก็จะสอดคล้องกับพลังที่เกิดขึ้นไม่ไปขัดแย้ง  ขนาดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ก็ไม่สามารถเอาชนะพลังของฮวงจุ้ย กฎกระแสของธรรมชาติได้

6. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

รูปแสดงตำแหน่งที่ตั้งวัดสระเกศ

รูปทัศนียภาพวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

วัดสระเกศ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีจุดเด่นคือ พระบรมบรรพต

วัดสระเกศ เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325 มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานเปลี่ยนชื่อวัดสะแก เป็นวัดสระเกศนี้ มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีข้อ 11 ว่า"รับสั่งพระโองการ ตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศแล้วบูรณปฏิสังขรณ์ เห็นควร ที่ต้นทางเสด็จพระนคร"ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า"ปฏิสังขรณ์วัดสะแกและเปลี่ยน ชื่อเป็น วัดสระเกศเอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนครมีคำ เล่า ๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวารสรงพระมุธาภิเษกตามประเพณีกลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า “วัดสระเกศ”

ในทางฮวงจุ้ยนั้น วัดนี้ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีความสวยและโดดเด่นสง่างามเป็นอย่างมาก เจดีย์หรือภูเขาทองนั้นก็เปรียบได้เหมือนกับภูเขา (หนักแน่นและมั่นคง) ทำให้พระหรือเจ้าอาวาสที่อยู่ภายในวัดแห่งนี้ก็จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชกันแทบทั้งสิ้น

7. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

รูปแสดงตำแหน่งที่ตั้งวัดราชบพิธฯ

รูปทัศนียภาพบริเวณวัดราชบพิธฯ

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง บพิธ คำนี้มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ส่วน “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบอาณาเขตของวัด

วัดราชบพิธฯ นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล

วัดนี้ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวัดที่มีการวางผังภายในวัดที่สมดุล เป็นสี่เหลี่ยม และมีเจดีย์ที่สวยเด่นเป็นสง่าเช่นกัน ได้ชัยภูมิที่ดีมาส่งเสริมก็ทำให้วัดแห่งนี้ ก่อเกิดสมเด็จพระสังฆราชเช่นเดียวกัน

8. วัดบวรนิเวศวิหาร

รูปแสดงตำแหน่งที่ตั้งวัดบวรนิเวศวิหาร

รูปทัศนียภาพมุมสูงวัดบวรนิเวศวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหาร (เดิมชื่อว่า วัดใหม่) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สถาปนาขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3

พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชไทยถึง 4 พระองค์  เนื่องด้วยชัยภูมิและทำเลที่ตั้ง รวมถึงมีเจดีย์ (ภูเขา) ที่สวยเด่นเป็นสง่าอย่างมาก ตรงกับคำภาษาจีนที่ว่า 钟山出 高官贵เพราะด้วย เจดีย์ด้านหลังเหมือนรูปทรงระฆังโบราณ ทำให้คนที่อาศัยอยู่ ณที่แห่งนั้น จะเป็นยอดคน ที่มีชื่อเสียง มียศถาบรรดาศักดิ์ที่สูง ซึ่งเป็นผลให้เกิดสมเด็จพระสังฆราชที่เยอะที่สุด ก็ด้วยมาจากสถาปัตยกรรมที่ดีและสอดคล้องกับชัยภูมิทั้งสิ้น นี่คือเรื่องจริงที่เราสามารถมองเห็นได้

พระประธานในพระอารามนี้มีความแตกต่างจากวัดอื่น ๆ โดยทั่วไป คือ มีพระประธาน 2 องค์ และล้วนมีความสำคัญเนืองจากเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณ ได้แก่ พระพุทธชินสีห์ ซึ่งอัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก โดยอัญเชิญมาทั้งองค์ราวปี พ.ศ. 2373 และพระสุวรรณเขต หรือ "พระโต" หรือ หลวงพ่อเพชร พระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานไว้เบื้องหลังพระพุทธชินสีห์ เป็นพระประธานองค์แรกของอุโบสถวัดนี้ ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี

9. วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา

 รูปแสดงตำแหน่งที่ตั้งวัดโสธรวรารามวรวิหาร


รูปทัศนียภาพบริเวณวัดโสธรวรารามวรวิหาร

วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร

วัดโสธรวรารามวรวิหาร เดิมชื่อว่า วัดหงษ์ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.98 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง  ตามตำนานเล่าว่า หลวงพ่อพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ มีรูปทรงสวยงามมาก ได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้จนมีลักษณะที่เห็นในปัจจุบัน ในทางฮวงจุ้ยนั้นถือว่าวัดนี้อยู่ในตำแหน่งทำเลชัยภูมิที่ดีและมองเห็นกระแสแม่น้ำบางปะกงมาจากไกล ๆ เป็นคุ้งแม่น้ำหักศอก กระแสมาเร็ว หักศอกก็เลยทำให้ชะลอตัวอย่างรวดเร็ว ความกว้างแม่น้ำ ก็กว้างและลึกมาก กระแสพลังถือว่ายิ่งใหญ่และแรงมาก ถ้าสามารถตั้งเป็นวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็จะทำให้มีชื่อเสียงยิ่งใหญ่ และมีเงินบริจาคมาก ซึ่งถือได้ว่า เป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วมาก ๆ เพราะได้รับกระแสพลังที่ดี

10. วัดเจดีย์ ไอ้ไข่ จ.นครศรีธรรมราช

รูปแสดงตำแหน่งวัดเจดีย์ ไอ้ไข่

รูปทัศนียภาพมุมสูงบริเวณวัดเจดีย์ ไอ้ไข่

วัดเจดีย์หรือวัดไอ้ไข่ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 7 ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เคยเป็นวัดร้างที่เชื่อกันว่าสร้างมาเป็นเวลานับ1000 ปี มีเพียงเจดีย์โบราณเก่ารกร้างอยู่ตรงบริเวณที่กำลังสร้างโบสถ์ในปัจจุบัน จนเมื่อประมาณ พ.ศ.2500 มีการบูรณะวัดเจดีย์ขึ้นมาใหม่ มีพระเข้ามาอยู่ประจำ เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจของชาวบ้านใกล้เคียง และเป็นที่ประดิษฐานของ “พ่อท่าน” พระพุทธรูปเก่าแก่ที่อยู่มาตั้งแต่ยังเป็นวัดร้าง

ไอ้ไข่วัดเจดีย์ หรือ ตาไข่วัดเจดีย์ คือรูปไม้แกะสลักของเด็กชายอายุประมาณ 9 -10 ขวบ ตั้งอยู่ในศาลาในวัดเจดีย์เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตย์อยู่ ณ วัดแห่งนี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านตั้งแต่ในละแวกใกล้วัดไปจนถึงต่างจังหวัดในแถบภาคใต้จากศรัทธาที่เชื่อกันว่า “ขอได้ไหว้รับ” โดยเฉพาะโชคลาภ และการค้าขาย

รูปทัศนียภาพบริเวณวัดเจดีย์ ไอ้ไข่

ซึ่งในทางฮวงจุ้ยนั้น ลักษณะผังบริเวณของวัดเจดีย์ ไอ้ไข่นั้น จะเห็นได้ว่ามีกระแสพลังของถนนหลักพุ่งตรงเข้ามา เป็นกระแสที่ทอดยาวอย่างต่อเนื่อง และบริเวณด้านหน้าวัดก็มีลานโล่ง (เหม่งตึ๊ง)เปิดรับพลังที่เข้ามาได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงผังของวัดยังมีลักษณะคล้ายถุงเงิน เก็บทรัพย์อีกด้วย จริงทำให้วัดนี้มีชื่อเสียงและเจริญรุ่งเรืองรวดเร็วและกำลังเป็นที่นิยมของคนทั่วไปในขณะนี้

***ถ้าหากเราลองสังเกตดี ๆนั้นตำแหน่งของวัดต่าง ๆที่มีชื่อเสียงและโด่งดังนั้นล้วนแต่จะตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีมาก ๆ ซึ่งจะตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเป็นส่วนใหญ่ หรือข้างด้านหน้าวัดมีลานโล่งเพื่อเปิดรับพลัง หรือมีจุดชะลอตัวของรถมารวมกัน มีกระแสพลังเข้ามาหล่อเลี้ยงได้ดี มีเจดีย์ที่ใหญ่และโดดเด่นมาส่งเสริม ซึ่งเจดีย์นั้นก็เปรียบเสมือนภูเขานั่นเอง ประกอบกับทิศทางดาวประจำปีมาส่งเสริม ก็เลยทำให้วัดต่าง ๆเหล่านี้มีความเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์รวมของพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก***

โดยสถานที่ทั้งหมดนี้ข้าพเจ้าได้รวบรวมมาเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ยกมาให้ทุกท่านได้ศึกษากันซึ่งในประเทศไทยยังมีวัดอีกหลายแห่ง ที่ถือเป็นสุดยอดของฮวงจุ้ยในอีกหลาย ๆจังหวัดด้วยกัน......

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้